วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วิวัฒนาการโทรทัศน์ไทย

ความหมายของโทรทัศน์

          คำว่า "โทรทัศน์" (Television) เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก และลาติน มีความหมายว่า "การเห็นได้ไกล"
          โทรทัศน์ คือ กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงจากรูปภาพด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนพลังงานแสง ซื่งเราสามารถมองเห็นด้วยตาให้เป็นพลังงานไฟฟ้าและส่งไปตามสายหรือออกอากาศ โดยมีกล้องโทรทัศน์เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงนี้
          โทรทัศน์ หมายถึง ระบบการส่งภาพและเสียงไปพร้อมๆกันด้วยเครื่องมือ อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสื่อสารตามเป้าประสงค์ และโทรทัศน์เพื่อการศึกษาจะเน้นรายการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาโดยเพราะทั้งระดับการสอนในชั้นเรียนและระดับการจัดรายการสถานีโทรทัศน์
         
วิวัฒนาการโทรทัศน์ไทยแบ่งเป็น 6 ยุค คือ

1. ทศวรรษ 2490 ยุคบุกเบิกโทรทัศน์ไทย(2491-2499)
2. โทรทัศน์กับเครื่องมือทางการเมือง(2500-2509)
3. ยุคเติบโตและการก้าวสู่โทรทัศน์ระบบสี(2510-2519)
4. การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง(2520-2529)
5. ยุคทองของโทรทัศน์ไทย(2530-2539)
6. การแข่งขันทางธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก


1. ทศวรรษ 2490 ยุคบุกเบิกโทรทัศน์ไทย(2491-2499)
         
ในตอนแรกจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่เนื่องจากประเทศยังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ จนมีคนคัดค้านเรื่องนี้พอสมควร สุดท้ายจึงมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นภายใต้ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท  ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูงานและฝึกอบรมด้านโทรทัศน์ที่บริษัท อาร์ซีเอ ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการประกวดราคาเครื่องรับส่งโทรทัศน์และการเตรียมงานด้าน เทคนิคโทรทัศน์ขึ้น และในช่วงทศวรรษนี้ กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์ วิทยุโทรทัศน์ ขึ้นใช้วันที่ 24 มิถุนายน 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมขึ้น เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย และออกอากาศในระบบขาวดำ รายการในระยะแรกเป็นรายเพื่อความบันเทิง เช่น นำลิเกมาเล่นสดออกทีวี มีรายการสนทนา รายการตอบคำถามชิงรางวัล และ ละคร

2. โทรทัศน์กับเครื่องมือทางการเมือง(2500-2509)


          โทรทัศน์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทหารและการเมือง ระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอม พลสฤษดิ์ ธนรัชต์
           จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ยึดอำนาจได้จากการปฏิวัติและได้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์แห่ง ที่ 2 ขึ้นในประเทศไทย โดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานทหารในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ระบบขาวดำ) ขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างทหารและประชาชน และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 (ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ขาวดำ ได้เปลี่ยนมาออกอากาศในระบบสีภายใต้ชื่อสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5)
          ดังนั้น ในยุคนี้ มีโทรทัศน์ในไทยแล้ว 2 ช่อง คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และ ตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ระบบขาวดำ)

3. ยุคเติบโตและการก้าวสู่โทรทัศน์ระบบสี(2510-2519)

            วันที่ 27 พฤศจิกายน 2510 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เริ่มแพร่ภาพออกอากาศในระบบสีเป็นสถานีแรกในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินการของบริษัทกรุงเทพฯและวิทยุ จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานจากกองทัพบก โดยออกอากาศการถ่ายทอดการประกวดนางสาว
            ไทยป็นรายการแรก 26 มีนาคม 2513 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการในระบบสี ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยที่ออกอากาศในระบบสี ภายใต้การดำเนินการของ บริษัทบางกอก เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด  เมื่อมีโทรทัศน์สีเกิดขึ้นสองช่อง ทำให้โทรทัศน์ระบบขาวดำต้องปรับตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด
           ในปี 2517 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านเทคโนโลยีโทรทัศน์ของประเทศไทย เพราะสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศในระบบขาวดำ 2 ช่องที่มีอยู่เดิมได้เปลี่ยนระบบออกอากาศมาเป็นระบบสี คือ
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (ระบบขาวดำ) เปลี่ยนมาเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 (ระบบสี)
สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ระบบขาวดำ) เปลี่ยนมาเป็น สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 (ระบบสี)

4. การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง(2520-2529)

            เมื่อเกิดโทรทัศน์สีแล้ว ทุกช่องก็ต่างต้องแข่งขันกันอย่างเต็มที่ โดยสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแข่งกันปรับปรุง และพัฒนาคุณภาพระบบสีของตัวเอง แต่จากเหตุการณ์ที่เริ่มมีการควบคุมสื่อในการนำเสนอข่าวสารมากขึ้น และการแสดงความคิดทางการเมืองก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มุ่งเน้นนำเสนอความบันเทิง และมุ่งผลิตรายการที่จะทำให้ได้ผลกำไรทางธูรกิจ
ในยุคสมัยนี้มีการนำเข้าละครจีนที่เป็นหนังชุดหลายเรื่องจนได้รับความนิยมและสร้างเรตติ้งให้สถานีโทรทัศน์อย่างมาก
          ด้านบริษัทไทยโทรทัศน์นั้นถูกยุบด้วยเหตุผลว่าขาดทุน และก่อตั้งขึ้นเป็นองค์การสื่อสารมวลชนมาบริหารงานสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แทน

5. ยุคทองของโทรทัศน์ไทย(2530-2539)

ทศวรรษนี้ถือเป็นยุคทองของกิจการโทรทัศน์ไทยเนื่องจากเป็นทศวรรษที่ ประเทศไทยมีครบทั้งโทรทัศน์ประเภทรับชมได้โดยไม่เสียค่าสมาชิก หรือ ฟรีทีวี (Free TV) และ โทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก (Subscription TV) นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างมาก
ในทศวรรษนี้มีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้น ดังนี้ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 มีการทดลองออกอากาศสถานีโทรทัศน์สีแห่งประเทศไทยช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ขึ้น ซึ่งเป็นสถานีที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการสู่ประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึง การเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนเป็นสถานีโทรทัศน์แม่ข่ายให้แก่ สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค ในเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ(ปัจจุบันก็คือ ส.ท.ท 11)  นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกขึ้น 3 รายคือ
เดือนตุลาคม 2532 สถานีโทรทัศน์ ไอบีซี เคเบิ้ล ทีวี เริ่มดำเนินกิจการธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกรายแรกของประเทศ ภายใต้การดำเนินงานโดย บริษัท อินเตอร์เนชันแนล บอร์ดคาสติ้ง คอร์เปอเรชั่น จำกัด
ปี พ.ศ. 2533 สถานีโทรทัศน์ ไทยสกาย เคเบิ้ล ทีวี เริ่มดำเนินธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิก ภายใต้การดำเนินการของบริษัทสยามบอร์ดคาสติ้ง จำกัด (ต่อมาได้ยุติการดำเนินธุรกิจลงในปี 2540 เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ)
พ.ศ. 2537 บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด เริ่มดำเนินการธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกในนามของ ยูทีวี
พ.ศ. 2537 สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์แบบฟรีทีวี ภายใต้ปรัชญาทีวีเสรี โดยมีบริษัทสยามเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และดำเนินการบริหารสถานี ต่อมาสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีการเปลี่ยนสมาชิกผู้ถือหุ้น และการซื้อขายกิจการผ่านตลาดหลักทรัพย์ จนภายหลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อ เป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟทีไอทีวี และเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลาต่อมาสถานีโทรทัศน์ระบบยูเฮชเอฟทีไอทีวีต้องยุติการออกอากาศไป โดยช่องสัญญาณดังกล่าวได้นำมาใช้ส่งสัญญาณสถานีโทรทัศน์สาธารณะช่องทีพีบี เอสแทน
นอกจากนี้ ในยุคนี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโต สื่อมีรายได้มากขึ้นจากเม็ดเงินของโฆษณาจากภาคธุรกิจ ทำให้สื่อโทรทัศน์มีเงินลงทุนในการผลิตรายการดีๆ และมีคุณภาพมากขึ้น ในช่วงนี้ มีการผลิตรายการต้นทุนสูง เช่น ละครที่มีการลงทุนมาก ไปถ่ายทำต่างประเทศ รายการต้นทุนสูง ถ่ายทำนอกสถานที่ หรือแม้แต่ข่าวภาคภาษาอังกฤษ     อย่างไรก็ตาม รายการโทรทัศน์ก็ยังมุ่งเน้น ความบันเทิง อยู่นั่นเอง

6.  การแข่งขันทางธุรกิจภายใต้เศรษฐกิจยุคฟองสบู่แตก
          สภาพเศรษฐกิจในทศวรรษ 2540 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย โดยสถานีโทรทัศน์ต่างต้องปรับตัว และบริหารสถานีให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เขตเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่แตก เหตุการสำคัญเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ในทศวรรตนี้ มีดังนี้
     วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ได้จัดตั้งโครงการ  Thai TV Global Network ขึ้นเพื่อเผยแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ไทยผ่านดาวเทียมไปยังประเทศต่างทั่วโลก
     วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 ยูทีวี และ ไอบีซี ตัดสินใจรวมกิจการ กันเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระทางการเงิน ที่เกิดจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น บริษัท ยูไนเต็ด บอร์ดคาสติ้ง คอร์ปเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และออกอากาศโทรทัศน์ประเภทบอกรับเป็นสมาชิก ภายใต้ชื่อ ยูบีซี (ต่อมาในปี 2549 ยูบีซีได้เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น ทรูวิชั่นส์)
     เดือนมิถุนายน 2548 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยได้เริ่มทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) โดบสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อสมท. ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี




ที่มา : http://www.oknation.net/blog/rt201dpu/2009/07/05/entry-2#top

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น